Villa Deva

COVID - 19 Safety : Learn more about our Safety Poility

วิลล่าเทวา รีสอร์ทแอนด์โฮเทล

โรงแรมสไตล์ลักชัวรี รีสอร์ท บนพื้นที่ 5 ไร่ ที่ถูกโอบกอดด้วยพื้นที่สีเขียวอันร่มรื่นของสถานทูตเดนมาร์กและสถานทูต ออสเตรีย บนถนนสาทร ซอย 1 ทุกองค์ประกอบล้วนได้รับการออกแบบเพื่อสะท้อนมรดกแห่งจิตวิญญาณอันทรงคุณค่า ทางประวัติศาสตร์ของย่านสาทร โดยผสานเครื่องประดับไทยไว้ในแนวคิดของการออกแบบ นับตั้งแต่รูปทรงหลังคาไปจนถึง แผงบังตาไม้ฉลุลวดลายปลาตะเพียน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโมบายปลาตะเพียนสานใบลานของไทย เชื่อมโยงโมงยาม ของความสะดวกสบายในโลกปัจจุบันกับคุณค่าความงามของวันวานได้อย่างกลมกลืน

นอกจากนี้ห้องพักทุกห้องยังถูกออกแบบให้หันหน้าสู่พื้นที่เปิดโล่งใจกลางโรงแรม ที่ประดับด้วยสวนหย่อมให้ความรู้สึกผ่อนคลาย พร้อมสระว่ายน้ำที่เชื่อมต่อห้องพักชั้นล่างทุกห้อง ยังมีการออกแบบ ‘ท่าน้ำ’ เพื่อทอดลงสู่สระว่ายน้ำ ที่มีแนวคิดการออกแบบมาจากวิถีชีวิตไทยในอดีตที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ และมีโถงทางเดินแบบ Semi-outdoor ที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในกับภายนอกได้อย่างลงตัว ให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติยิ่งขึ้น

สาทร

มรดกทางเศรษฐกิจ
และวัฒนธรรม

รู้จักย่านสาทร

“สาทร” ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร ที่ซึ่งหลากหลายความทรงจำ ตั้งแต่ครั้งอดีต ยังคงเล่าขานผ่านกาลเวลากว่าศตวรรษจวบจนถึงปัจจุบัน ค้นพบเรื่องราวที่สะท้อนเงาวิถีชีวิตไทยในย่านสาทรได้ ณ วิลล่าเทวา รีสอร์ทแอนด์โฮเทล

สาทร มรดกทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2435 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะกิจการค้าข้าวที่ดึงดูดพ่อค้าจากต่างประเทศทั้งจากจีนและตะวันตก จึงต้องมีการพัฒนาระบบคมนาคมด้วยการขุดคลองเพื่อใช้เดินทางและขนส่งสินค้า ทางราชการได้เชิญชวนให้เอกชนดำเนินการขุดคลองโดยยกสิทธิ์ที่ดินริมสองฝั่งคลองเป็นการตอบแทน

“คลองสาทร” กำเนิดขึ้นโดย “เจ้าสัวยม” ได้รับสัมปทานให้ขุดคลองขนาดใหญ่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา กับ ‘‘คลองถนนตรง’’ (คลองวัดหัวลำโพง) คลองที่ขุดใหม่นี้จึงได้ชื่อว่า ‘‘คลองเจ้าสัวยม’’ หรือ ‘‘คลองนายยม’’ ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเรียก อีกทั้งยังนำดินที่ขุดมาถมเป็นถนนริมสองฝั่งคลองอีกด้วย

ภายหลังเจ้าสัวยมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสาทรราชายุตก์” คลองเจ้าสัวยมจึงมีชื่อใหม่ว่า “คลองสาทรราชายุตก์” และย่อลงเป็น “คลองสาทร” จนกระทั่งมีการขยายถนนสองฝั่งคลองเป็นถนนสาทรเหนือและถนนสาทรใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานทูต อาคารสำนักงาน แหล่งรวมบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ ศูนย์การค้า และศูนย์กลางทางธุรกิจ อันเป็นหัวใจของเมืองหลวงเฉกเช่นกรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา

พระยาอรรถการประสิทธิ์

นายวิลเลียม แอลเฟรด คุณะติเลกี นักกฎหมายหนุ่มจากเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลแขวง เมืองแคนดี้ ได้เดินทางมายังสยามประเทศในปี พ.ศ.2433 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสยามประเทศ เนื่องจากเป็นยุคที่ประเทศมีการพัฒนาเข้าสู่ยุคใหม่ในหลายด้าน 

ต่อมา ในปี พ.ศ.2437 นายวิลเลียม แอลเฟรด คุณะติเลกี ร่วมกับหลวงดำรงธรรมสารได้ชนะการว่าความให้พระยอดเมืองขวาง ข้าราชการฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต่อกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ทำให้ชื่อเสียงของนายวิลเลียม แอลเฟรด คุณะติเลกี เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

ในปี พ.ศ.2453 สมัยรัชกาลที่ 6 นายวิลเลียม แอลเฟรด คุณะติเลกี ได้เปลี่ยนมาถือสัญชาติไทยและได้รับการแต่งตั้งเป็น “พระยาอรรถการประสิทธิ์” ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการในเวลาต่อมา โดยบ้านของท่านตั้งอยู่บนถนนสาทร ซอย 1 ซึ่งเรียกอีกชื่อว่า “ซอยอรรถการประสิทธิ์” ตามราชทินนามของพระยาอรรถการประสิทธิ์นั่นเอง

coming soon